You are using an outdated browser. Please upgrade your browser to improve your experience.
เมื่อเวลา 08.00 น.นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์-กำแพงเพชร เผยกับผู้สื่อข่าวว่า จากกรณีที่ทาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ความสำคัญกำหนดนโยบายอย่างเคร่งครัด บังคับให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานฯ ต้องเดินป่า ด้วยการเดินเท้าเข้าไปนอนในป่าคราวละ 4-7 คืนนั้นเพื่อ ช่วยป้องปราม และสามารถจับกุมพรานผู้ล่าสัตว์ป่าได้มากขึ้น ส่งผลให้สัตว์ป่าอาศัยอยู่ในป่าได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ทำให้ชนิดและจำนวนประชากรของสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น โดยอ้างความ เป็นจริงตามผลที่ได้จากภาพที่ได้จากกล้องดักถ่ายภาพ(Camera Trap)
โดยได้รับรายงานจาก นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) ด้วยการติดตั้งกล้องซ่อนพรางไว้กับต้นไม้ต่างๆ บริเวณ จุดตรงโป่ง ที่สัตว์ป่าชอบเข้ามาหากิน จำนวน 3 โป่ง คือ จุดที่1โป่งนายสอ 2โป่งไผ่ล้อม และ 3 โป่งพุน้ำร้อน ใจกลางป่าใน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หลังจากติดตั้งกล้องไว้ประมาณ 30 วัน ได้นำข้อมูลที่กล้องบันทึกไว้ไปตรวจสอบพบว่า ในช่วงเดือนกันยายน 2563 ถึง เดือน ตุลาคม 2563 พบสัตว์ป่าที่กล้องบันทึกเอาไว้ได้ สรุปได้ดังนี้
1. พบสัตว์ป่า ประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 12 ชนิด ได้แก่ กวางป่า กระทิง ช้างป่า เก้งธรรมดา วัวแดง สมเสร็จ เม่นใหญ่ หมูป่า และหมีควาย สัตว์ป่าประเภท นก พบนกที่เข้ามาใช้ประโยชน์ 3 ชนิด ได้แก่ นกยูง นกทึดทือพันธุ์เหนือ และ เหยี่ยวรุ้ง
2. พบจำนวนสัตว์ป่าที่เข้ามาใช้ประโยชน์บริเวณโป่ง แต่ละโป่ง แตกต่างกัน คือ บริเวณโป่งนายสอ มีสัตว์ป่าเข้ามาใช้ประโยชน์มากที่สุด คือ จำนวน 145 ครั้ง รองลงมาคือ โป่งพุน้ำร้อน จำนวน 111 ครั้ง และโป่งไผ่ล้อม จำนวน 76 ครั้ง
3. พบชนิดสัตว์ป่าที่เข้ามาใช้ประโยชน์โป่ง มากที่สุดคือ กวางป่า คือ เข้ามาใช้ประโยชน์ 131 ครั้ง (39.46%) รองลงมาคือ กระทิง 55 ครั้ง (16.57%) และช้างป่า 47 ครั้ง (14.16%)
4.ช่วงเวลาที่สัตว์ป่าเข้ามาใช้ประโยชน์บริเวณโป่ง มากที่สุด ในช่วงเวลา 12.00 น. -18.00 น.
5. พบว่าสัตว์ป่าที่เข้ามาใช้ประโยชน์โป่ง ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าประเภทที่กินพืชเป็นอาหาร โดยจะเข้ามากินดินจากโป่ง หรือไม่ก็เข้ามากินน้ำจากโป่งน้ำ รวมทั้งสัตว์ผู้ล่า เช่น เสือโคร่ง เสือดาว หมาใน ที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์จากโป่งในทางอ้อม คือใช้โป่งเป็นพื้นที่ในการซุ่มโจมตีเหยื่อ
( เครดิตภาพ นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์-กำแพงเพชร)
ข่าว/ภาพ นายวิทยา จตุรภาค สมาคมนักข่าวส่วนกลางและท้องถิ่นกำแพงเพชร
สนับสนุนข่าวโดย
แสดงความคิดเห็น