You are using an outdated browser. Please upgrade your browser to improve your experience.
เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 19 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร ร่วมกับศูนย์วิจัยไฟป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี โดยมีนายสุระชัย โภคมณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน นายกิติพัฒน์ ธาราภิบาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วย นายรณรัตน์ ศิริมากร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าศูนย์วิจัยไฟป่าห้วยขาแข้ง ร่วมสนองนโยบาย "ชิงเก็บ" ของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ดำเนินการตามนโยบาย ชิงเก็บหากพบว่าพื้นที่ใดมีเศษวัสดุกิ่งและใบไม้แห้ง จำนวนมาก ก็จะให้เจ้าหน้าที่เร่งเข้าไปชิงเก็บเศษวัสดุก่อนเกิดช่วงไฟป่าแล้วนำมาแปรสภาพให้ใช้ประโยชน์และเป็นสินค้าถ้วย ชามจานใส่อาหาร ที่สามารถขายได้ เพื่อทดแทนการใช้ภาชนะโฟมและพลาสติกในเขตอุทยานฯได้อีกด้วยโดยได้รับการสนับสนุนเครื่องอัดกระทงใบไม้จากศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และโครงการธรรมชาติปลอดภัย
นายสุระชัย โภคมณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน กล่าวว่า สถานการณ์ไฟป่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดมลพิษหมอกควัน เกิดอันตรายด้านสุขภาพอนามัย ของเจ้าหน้าที่และการท่องเที่ยว ตลอดจนการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน จึงต้องเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมไฟป่า พื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า อย่างเข้มข้นจึงนำร่อง “ชิงเก็บก่อน” โดยการเก็บเศษใบไม้ที่จะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ในพื้นที่ป่าโดยรอบ นำเศษใบไม้แห้ง กิ่งไม้ ที่ร่วงจากต้นไม้ต่างๆ นำไปเผาแปรรูปเป็นสินค้าเครื่องใช้ครัวเรือน เปลี่ยนใบไม้เป็นเงินแบงค์ รวมทั้ง ถ้วย ชามจานใส่อาหารไว้รับประทานและยังสามารถนำเศษใบไม้ที่เผาไหม้แล้วผสมกับดินเป็นปุ๋ยชีวภาพได้อีกด้วย
โดยได้รับการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนที่อยู่รอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในการผลิตภาชนะจากใบไม้และหัวใจสำคัญคือความร่วมมือจากร้านค้าบริเวณหน้าอุทยานแห่งชาติฯให้การสนับสนุนใช้ภาชนะจากใบไม้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวและที่สำคัญคือนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมจะได้ช่วยสนับสนุนนโยบายนี้ให้ยั่งยืนต่อไปด้วย ทั้งนี้การดำเนินโครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนและยังช่วยแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ฝุ่นละออง PM2.5 อีกทั้งเป็นการใช้วัสดุจากธรรมชาติทดแทนการใช้ภาชนะโฟมและพลาสติกอีกด้วย โดยเริ่มนำร่องที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.กำแพงเพชร เป็นแห่งแรก
ด้านนายรณรัตน์ ศิริมากร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าศูนย์วิจัยไฟป่าห้วยขาแข้ง กล่าวอีกว่า นอกจากภาชนะใบไม้ ยังมีการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมเตาBEBC ซึ่งนำใบไม้จากการชิงเก็บมาแปรเป็นพลังงานความร้อน แก๊สสำหรับหุงต้ม และยังได้ไบโชาร์ วัสดุปรับปรุงดินให้ดีขึ้น นอกจากการนำไปหมักทำปุ๋ย โดยกระบวนการนี้เรียกว่า การแยกสลายด้วยความร้อน pyrolisis และช่วยกักเก็บคาร์บอนลงสู่ดิน ลดภาวะโลกร้อน และลดปริมาณเชื้อเพลิง ป้องกันไฟป่าและหมอกควัน ฝุ่นละออง pm2.5 ทั้งนี้สามารถต่อยอดสร้างรายได้ให้กับประชาชนได้อีกทางหนึ่งด้วยและ สนองนโยบาย ทส.ยกกำลัง 2+4 คือการมีส่วนร่วม และการนวัตกรรมใหม่มาใช้เพิ่มศักยภาพการทำงาน
รวมทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาให้ชุมชนได้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบของไฟป่า เกิดความรักความหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ เกิดความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในการดูแล เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมไฟป่า ชุมชนสามารถนำเชื้อเพลิงจากป่ามาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อลดต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรกรรม และมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและควบคุมไฟป่าในพื้นที่อย่างจริงจังในช่วงวิกฤติ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานป้องกันและควบคุมไฟป่า และลดปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าแก้ไขปัญหาไฟป่า สามารถลดการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 อีกทั้งยังสร้างรายได้กลับสู่ชุมชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการเผาป่ามาสู่การใช้ประโยชน์จากป่าได้อีกด้วย
ข่าว/ภาพ นายวิทยา จตุรภาค สมาคมนักข่าวส่วนกลางและท้องถิ่นกำแพงเพชร
สนับสนุนข่าวโดย
แสดงความคิดเห็น