You are using an outdated browser. Please upgrade your browser to improve your experience.
แถลงข่าวทิศทางการตลาดท่องเที่ยว ประจำปี 2562
วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เวลา 18.00 น.ที่ร้าน Fourest บริเวณทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร นายเชาวลิตร แสงอุทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานในพิธีการแถลงทิศทางการตลาดท่องเที่ยว ประจำปี 2562 โดยมี นายอภิวัฒน์ ทับทิมโต ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุโขทัย ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายไพโรจน์ แก้วแดง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ผู้บริหารของภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่พัก โรงแรม และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง
โดย นายอภิวัฒน์ ทับทิมโต ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุโขทัย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลคาดหวังใช้ภาคการท่องเที่ยวเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจลงสู่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการกระจายรายได้สู่จังหวัดที่ยังมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนต่ำกว่า 4 ล้านคนครั้ง ขณะเดียวกันการเข้าถึงชุมชนที่เปราะบาง ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบและท้ายสุดประชาชนต้องอยู่ดีมีสุข นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายในปีหน้า ททท. ได้สนองตอบนโยบายดังกล่าวโดยวางแผนการตลาดภายใต้บริบทและการวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศในแถบยุโรปที่ยังอ่อนไหว อาจต้องพึ่งพิงตลาดต่างประเทศที่เดินทางจากระยะใกล้เพื่อลดความเสี่ยง การจำแนกกลุ่มลูกค้าแบบแยกย่อย อิงพฤติกรรมความต้องการตามกระแสนิยมส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจในโลกดิจิทัลที่ต้องปรับตัวอย่างมาก รวมถึงการรองรับ Big Data เพื่อการใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาดในการรักษาความเป็นผู้นำการตลาด สำหรับในปี 2562 ททท. ยังคงดำเนินการต่อยอดใน 3 จุดเน้นเดิมได้แก่
1.) ใช้วิถีการกินนำไปสู่การสัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น เดินหน้าตอกย้ำความเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่โดดเด่นเรื่องอาหารด้วย Michelin Guidebook 2019 เล่มที่สอง กำหนดเปิดตัวในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึงโครงการ Eat Thai, Visit Thai ที่พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดตัวโครงการ ณ กรุงลอนดอน โดยแนวทางการทำงาน คือการใช้ร้านอาหารไทยในสหราชอาณาจักร เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์เผยแพร่อาหารไทยในแต่ละภูมิภาคไปยังเมืองใหม่ๆ ของสหราชอาณาจักร พร้อมนำเสนอวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร การปรุง ด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น ซึ่งจะกระตุ้นความต้องการวัตถุดิบจากเมืองไทยมากขึ้น
2.) สร้างมูลค่าเพิ่มด้วย content ให้ขยายวงกว้างมากขึ้น เช่น เนื้อหาในแอพพลิเคชั่น รู้ไทยให้ทึ่ง ซึ่งรวมกูรูผู้รู้ด้านต่างๆ เล่าเกร็ดประเทศไทย ทั้งเชิงสังคม ศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อาหาร เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้มัคคุเทศก์ช่วยถ่ายทอดเรื่องราวไปยังนักท่องเที่ยวต่อไป
3.) สร้างกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อม ขยายผลจากกิจกรรมกำจัดขยะรูปแบบต่างๆ ด้วยเพราะคำนึงว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นการเพิ่มจำนวนคนเข้าประเทศ และเพิ่มโอกาสในการสร้างขยะ ซึ่งในปี 2561 ททท. ได้จัดกิจกรรมลักษณะนี้ไม่ต่ำกว่า 83 โครงการ และสามารถลดปริมาณขยะได้กว่า 1 หมื่นกิโลกรัม สำหรับในปี 2562 ททท. จะเพิ่มความสำคัญเรื่อง CSR in process โดยจะผนวกเข้าในระบบคิดของการทำงานทั้งงานภายในองค์กรและภายนอกองค์กร เพื่อให้การดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างครอบคลุมและรอบด้าน
4.) เพิ่มเรื่องชูอัตลักษณ์เมืองรอง โดยสร้างสรรค์เส้นทางท่องเที่ยวที่กระจายการเดินทางจากเมืองหลักสู่เมืองรองตามแนวคิด A B C ดังนี้ A – Additional คือ เส้นทางเมืองหลักเชื่อมเมืองรอง, B – Brand New คือ เมืองรองที่มีศักยภาพ, C – Combined คือ เส้นทางเมืองรองเชื่อมเมืองรอง ทั้งนี้ ในการประเมินศักยภาพชุมชน เป็นการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนเจ้าของแหล่ง เพื่อสอบทานความต้องการเชิงการตลาดกับความพร้อมและความสมัครใจของชุมชนเจ้าของแหล่ง นำมาสู่การคัดกรองชุมชนที่พร้อมรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวออกสู่ตลาด
สำหรับตลาดเป้าหมายกลุ่มผู้สูงวัย และสตรี มีแนวโน้มการเติบโตสูง และมีกำลังซื้อ ส่วนกลุ่ม Gen Y หรือ กลุ่ม Millennial (17-36 ปี) ซึ่งมีความชัดเจนในวิธีคิด การใช้ชีวิต และบทบาทเด่นในการใช้โซเชียลมีเดีย สามารถช่วยสร้างกระแสการเดินทางท่องเที่ยว ขณะเดียวกันกลุ่มคนวัยทำงาน ตอบโจทย์ วันธรรมดาน่าเที่ยว มีส่วนช่วยแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาห้องพักไม่เพียงพอ สำหรับกลุ่มประชุมสัมมนา ท่องเที่ยวเป็นรางวัล จะช่วยเพิ่มการใช้ประโยชน์ของห้องพักได้มากขึ้น และจะผนวกกิจกรรมประเภท CSR ในชุมชนที่มีศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการประชุม เพื่อการกระจายรายได้สู่ชุมชน และสร้างความผูกพันระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมในฐานะนักท่องเที่ยวที่มีต่อชุมชน เป้าหมายและทิศทางปี 2562 ตามแผนวิสาหกิจของ ททท. ได้กำหนดให้เป้าหมายรายได้ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและในประเทศเพิ่มขึ้น 11.5% โดยรายได้การเติบโตของตลาดต่างประเทศ 12% และในประเทศ 10% ดังนั้น
สำหรับตลาดต่างประเทศ ททท. จึงวางประเทศไทยเป็น “Weekend Destination” สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวระยะใกล้ ซึ่งจะสนับสนุนการเพิ่มจำนวนความถี่ในการเดินทางของตลาดมากขึ้น และดำเนินการส่งเสริมการตลาดต่างประเทศภายใต้ 5 ทิศทางหลัก คือ GO High / Go for New Customer / Go Local / Go Low Season และ Go Digital เพื่อเข้าถึงตลาดกลุ่มเป้าหมายแต่ละภูมิภาค ซึ่งจะสื่อสารผ่านแคมเปญ Amazing Thailand : Open to the New Shades ซึ่งเป็น Working Concept โดยในปี 2562 จะนำเสนอ The Millions of Hidden Shades เชิญชวนชาวต่างประเทศเดินทางมาสัมผัสเมืองไทยในหลายแง่มุมที่ยังซุกซ่อนอยู่ เพื่อดื่มด่ำกับประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก ขณะที่ทิศทางการส่งเสริมตลาดในประเทศ จะเน้นเรื่องการต่อยอดสร้างสรรค์ Content ด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจที่ทำให้คนไทยรู้จักและรักเมืองไทยมากขึ้นไปกว่าเดิม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าการท่องเที่ยวของประเทศ และเชื่อว่าจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้จากการเพิ่มความถี่ในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันที่เพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกันการสื่อสารภายในประเทศจะเน้นแคมเปญ Amazing ไทยเท่ ที่จะทำให้คนไทยเห็นว่าการเที่ยวเมืองไทยเป็นเรื่องเท่ ด้วยการเที่ยวแบบลึกซึ้งและเข้าถึง
โดยใช้ศักยภาพคนท้องถิ่นทั่วไทยจะขนานนามว่า Local Hero เป็นทั้งผู้ปกป้อง สืบสานและถ่ายทอดวิถีชีวิต ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ธรรมชาติ ให้คงอยู่ อย่างไรก็ตาม ความสำคัญเร่งด่วน คือ การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตที่มีอัตลักษณ์ ไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ขาดความรับผิดชอบ ซึ่ง ททท. เองยังต้องแสวงหาโอกาสทางการตลาด พร้อมๆ กับการแสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
สนับสนุนข่าวโดย
แสดงความคิดเห็น